วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยในฟู้ดคอร์ทโลตัส


ก่อนเริ่มเรื่องจะต้องบอกก่อนว่าอย่าดูถูกอาหารฟู้ดคอร์ท ปกติแล้วอาหารฟู้ดคอร์ทจะไม่ค่อยมีอาหารรสชาติเด่นๆ อาหารจะเป็นรสชาติพื้นๆ เหมือนอาหารกินกันตายเวลาไม่มีอะไรอย่างอื่นกินแล้ว

ฟู้ดคอร์ทโลตัสนี้อยู่แถวบ้าน ส่วนใหญ่แล้วร้านอาหารเคยมีมาเปิดหลายร้านแต่ก็อยู่ไม่ได้นานส่วนใหญ่ขายไปสักพักก็ล้มหายตายจากไป ร้านที่อยู่ยั้งยืนยงก็มีแค่ สุกี้เอ็มเคกับร้าน Chester Grill ที่ขายได้อย่างสม่ำเสมอ
ร้านอาหารในฟู้ดคอร์ทโลตัสสาขานี้มีไม่กี่ร้าน ร้านก๋วยเตี๋ยวร้านนี้ก็เหมือนกับร้านอื่นๆ ไม่ได้มีอะไรที่ดูเด่นเป็นพิเศษ แค่วันนั้นเกิดว่าหิวแล้วอยากทานอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่อาหารตามสั่งก็เลยลองสั่งก๋วยเตี๋ยวมาทานดู เห็นก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยก็ดูน่าสนใจดีเลยลองสั่งมาทาน


ยืนดูคนทำก๋วยเตี๋ยว จะมีคนหนึ่งลวกเส้นแล้วอีกคนเป็นคนปรุง คนที่ลวกเส้นจะลวกเอาเส้นใส่ชาม ลวกถั่วฝักยาวซอยใส่มาด้วย คนปรุงก็เอามาใส่น้ำมันกระเทียมเจียวแล้วไม่ลืมที่จะตักกากหมูใส่ลงไปด้วย การปรุงจะเริ่มจากการตักหมูบะช่อที่ต้มใส่น้ำมาหนึ่งช้อน เติมน้ำมะนาวครึ่งช้อน พริกป่นครึ่งช้อน น้ำปลาหนึ่งช้อนและน้ำส้มอีกหนึ่งช้อน จากนั้นใส่น้ำตาลช้อนพูนๆ ตามด้วยหัวไชโป๊วสับ ผักชีฝรั่งซอยและที่ขาดไม่ได้คือหมูแดงหั่นกับถั่วคั่ว จากนั้นคนปรุงก็ใส่น้ำซุปพอให้มีน้ำขลุกขลิกแล้วอาจเติมหมูสับกับน้ำซุปลงไปอีกนิดหน่อย สำหรับคนที่ไม่ชอบทานหวานก็บอกคนปรุงว่าไม่ต้องใส่น้ำตาล ดีกว่าเพราะถ้าบอกว่าใส่น้ำตาลนิดเดียว มันผิดกระบวนการ รสชาติมันเพี้ยน

เส้นก๋วยเตี๋ยวร้านนี้มีหลายเส้นตั้งแต่เส้นใหญ่ เส้นเล็ก หรือเส้นหมี่ บะหมี่นั้นก็มีบะหมี่เหลืองหรือเส้นมาม่าแล้วเส้นก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ก็มีขาย ทุกเส้นสามารถทำก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยได้หมด
ราคาก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยร้านนี้ชามละ 35 บาทถ้าเพิ่มเกี๊ยวหมูไปอีกสี่ตัวก็ราคา 40 บาท ชามใหญ่อิ่มตื้อไปถึงคอ น้ำซุปร้านนี้หวานหอม ซึ่งไม่ได้เคยคาดหวังกับความกลมกล่อมแบบนี้จากร้านอาหารแบบฟู้ดคอร์ท นอกจากนี้ยังมีความหอมจากพริกและถั่วคั่วที่คั่วมาใหม่ๆ

ฟู้ดคอร์ทโลตัสสาขานี้อยู่ที่สี่แยกพงษ์เพชรใกล้ๆกับโรงพยาบาลนนทเวช ถ้ามาจากทางถนนงามวงศ์วานขาออก เมื่อมาถึงแยกตัดกับถนนประชาชื่นให้เลี้ยวซ้าย จะเห็นห้างเทสโก้โลตัสอยู่ก่อนถึงโฮมโปร ถ้ามาจากถนนงามวงศ์วานขาเข้าเมือง ให้มาที่สี่แยกตัดกับถนนประชาชื่นแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนประชาชื่น ถ้ามาจากถนนประชาชื่น ห้างเทสโก้โลตัสจะอยู่ฝั่งซ้ายมือ จอดรถในที่จอดของโลตัสได้ฟรีสองชั่วโมง
เคยมีเพื่อนที่บ้านอยู่ใกล้กันแล้วเคยมาทานก๋วยเตี๋ยวร้านนี้แล้วรู้สึกว่ามันอร่อยเป็นพิเศษกว่าร้านอื่น ตอนแรกเพื่อนนึกว่ามันคิดมะโนไปเอง จนหลายคนคอนเฟิร์มว่าก๋วยเตี๋ยวร้านนี้อร่อยจริงถึงได้รู้ว่าไม่ได้คิดไปเอง ตอนหลังร้านนี้ก็เลยเป็นตัวเลือกแรกเมื่อมาเดินที่โลตัสสาขานี้
ร้านนี้นอกจากก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแล้วยังมีก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาและเย็นตาโฟแต่ขออนุญาตไม่แนะนำเพราะเคยทานแล้วไม่อร่อย ลูกชิ้นปลาไม่ใช่ลูกชิ้นปลาคุณภาพดีมาก ปัจจัยที่เด็ดสุดของร้านนี้คือรสมือการปรุงก๋วยเตี๋ยวของคนปรุงก๋วยเตี๋ยวของร้าน
เคยมีคนบอกว่าถ้ามีสูตรตายตัวการปรุงก๋วยเตี๋ยวใครปรุงก็เหมือนกัน ขอเถียงขาดใจว่าไม่จริง มันไม่เหมือนหรอก การตักก็ไม่เหมือนแล้ว การปรุงหนึ่งช้อน ช้อนพูนไม่พูนการตักของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นยังไงก็ไม่เหมือน


ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยรสชาติหวานหอมจากน้ำซุปและเครื่องปรุงเช่นหัวไชโป๊วสับกับผักชีฝรั่งซอย เวลาเคี้ยวแต่ละคำได้ความกรุบกรอบของหัวไชโป๊วสับเค็มๆกรุบๆ กับถั่วฝักยาวกรุบกรอบซึ่งไม่เหม็นเขียว แกล้มกับเส้นก๋วยเตี๋ยวคืบหมูแดงเคี้ยวตามด้วยน้ำซุปร้อนๆ หวานคล่องคอ แล้วมันเหนือคำบรรยาย


วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

ร้านข้าวแกงพี่โต

ร้านข้าวแกงพี่โตอยู่คู่กับหมู่บ้านประชานิเวศน์มานาน ลูกค้าที่มาทานก็เป็นพวกคนทำงานหรือข้าราชการที่ทำงานใกล้ๆแถวนี้ หรือไม่ก็พวกที่ซื้อไปเป็นอาหารเย็นที่บ้าน

ร้านพี่โตเป็นร้านข้าวแกงสไตล์อาหารใต้ มีกับข้าวให้เลือกวันละนับสิบอย่าง รายการกับข้าวจะมีมากที่สุดทุกวันศุกร์เพราะพี่โตคาดว่าคนจะซื้อกลับไปใส่ตู้เย็นตุนไว้

คนทำอาหารเป็นแม่ยายของพี่โต พี่โตเป็นลูกเขยแต่เป็นเจ้าของกิจการ เริ่มจากพี่โตมาจากต่างจังหวัดเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพแล้วมารู้จักกับลูกสาวคุณยาย อยู่ไปอยู่มาก็เลยแต่งงานย้ายเข้าไปอยู่บ้านคุณยาย ทีนี้คุณยายทำกับข้าวอร่อย พี่โตก็เลยคิดว่าน่าจะเปิดกิจการขายข้าวแกงก็เลยเป็นที่มาของร้านที่พี่โตเป็นเจ้าของแล้วคุณยายซึ่งเป็นแม่ยายเป็นคนทำ

อาหารร้านพี่โตมีหลายอย่าง ที่ขึ้นชื่อก็มีพวกแกงเหลือง แกงไตปลา แกงพริกกระดูกหมูแบบใต้ ไก่ต้มขมิ้นรสชาติเข้มข้น แล้วก็ยังมีพวกแกงเผ็ดลูกชิ้นปลากราย แกงเทโพ รวมไปถึงต้มกะทิสายบัว อาหารประเภทผัดก็มีหลายอย่างเช่นผัดเผ็ดปลาดุก ผัดกระเพราและที่ไม่เคยขาดก็พวกผัดผักต่างๆ

แกงเหลืองกับแกงไตปลาร้านพี่โตรสชาติเข้มข้น หนักไปทางเผ็ดแต่ก็ไม่ได้เผ็ดมาก ขนาดที่กินไม่ได้หรือต้องกินไปอมน้ำแข็งไป กินกับข้าวสวยร้อนๆแล้วรสชาติกลมกล่อม แกงพริกกระดูกหมู คุณยายจะตุ๋นกระดูกหมูจนนิ่มน้ำแกงซึมเข้าเนื้อ อร่อยควบคู่กับน้ำแกงหอมๆถึงพริกถึงเครื่องที่คุณยายตำเอง

แกงเทโพร้านพี่โตรสชาติกลมกล่อม อย่างที่ว่าแกงพวกนี้และอีกอย่างหนึ่งคือแกงส้มนั้นไม่ใช่ใครจะทำก็ได้ทุกคน การปรุงให้แกงกลมกล่อมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แกงเทโพจะต้องอมเปรี้ยวจากน้ำมะขามร้านพี่โตก็ทำได้อร่อยกลมกล่อม

 ต้มกะทิสายบัวของร้านนี้ น้ำแกงจะข้นและมันกะทิ ต้มมากับปลาทูตัวโต เนื้อหวานเข้ากันกับแกงสายบัวหวานมันและเนื้อสายบัวกรุบกรอบ

แกงไก่ก็เป็นแกงแบบพื้นๆ แต่รสชาติเข้มข้น ร้านพี่โตจะใช้ไก่เนื้อๆไม่ได้เป็นไก่ติดกระดูกให้เคี้ยวแล้วติดฟันเหมือนร้านอื่น แกงเผ็ดปรากรายนั้น รสชาติจะอ่อนกว่าแกงแบบใต้ที่ขาย เนื้อปลากรายจะเหนียวหนึบในน้ำแกงเข้มข้น

ของอร่อยอีกอย่างของร้านพี่โตคือไข่พะโล้ พี่โตจะใส่ขาหมูด้วยและก็มีไข่กับเต้าหู้ น้ำพะโล้จะอกรสหวานเป็นพะโล้แบบไทยๆเอามาตัดกับรสชาติเผ็ดของกับข้าวชนิดอื่น นอกจากแกงและผัดต่างๆแล้วร้านพี่โตก็ยังมีไก่ทอดกรอบๆ ปลาดุกทอดขมิ้นที่มากับกระเทียมกรอบๆเหลืองๆที่พี่เค้าตักให้แบบไม่อั้น ของทอดนี้ขายพร้อมๆกับหมูสามชั้นทอดแบบเอาใจคนไม่กลัวอ้วน

ราคาอาหารร้านพี่โตก็ค่อนข้างย่อมเยา แกงถุงหนึ่งก็ 40 บาท ถ้าเป็นพวกอาหารพิเศษเช่นต้มยำมีปลามาครึ่งตัวก็คิดตามราคาปลา ส่วนใหญ่แล้วถามราคาก่อนตักได้

อาหารร้านพี่โตค่อนข้างรสจัดแบบอาหารใต้ ส่วนใหญ่คนที่มาทานที่ร้านจะสั่งอาหารแบบจานมาแชร์กันแล้วสั่งข้าวเปล่ามากินด้วยกัน ล้อมวงกันกินแบบไทยๆ ได้บรรยากาศไปอีกแบบ หรือจะเป็นข้าวแกงแบบตักกับข้าวราดบนข้าวพี่โตก็ขาย

กับข้าวถ้าหมดช่วงเที่ยงแล้วพี่โตจะตักกับข้าวใส่ถุงเอาใส่รถเข็นไปขายหน้าโรงเรียนประถมประชานิเวศน์ 1 ขายให้กับผู้ปกครองที่มารับเด็กๆตอนเลิกเรียน เป็นการระบายสินค้าให้หมดในแต่ละวัน เพื่อจะได้ขายสินค้าสดใหม่ในวันรุ่งขึ้น

ร้านข้าวแกงของพี่โตอยู่ได้แบบเศรษฐกิจพอเพียง กำไรพออยู่ได้ อาศัยว่าร้านไม่ต้องเช่าเพราะใช้พื้นที่บริเวณบ้าน แล้วต่อที่นั่งให้คนนั่งทานบริเวณโรงรถกับหลังบ้าน นอกจากหลังบ้านที่เป็นโต๊ะนั่งของลูกค้าตรงมุมหลังบ้านยังเป็นครัวเปิด เป็นจุดปฏิบัติการของคุณยาย

ร้านพี่โตเปิดขายเฉพาะวันจันทร์ถึงศุกร์ และปิดตามวันหยุดราชการคือวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดเทศกาลต่างๆหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพราะไม่มีคนมาทำงาน ถ้าขายแล้วยอดขายอาจตก

ทางมาร้านพี่โต ถ้าไม่คุ้นเคยกับแถวนี้ก็ให้หาโรงเรียนประถมประชานิเวศน์ซึ่งฝั่งตรงข้ามกับทางเข้าจะเป็น สน ประชาชื่น มาไม่ถูก ถามใครใครก็รู้จัก มาถึงโรงเรียนจะเป็นสามแยกแต่ไม่ต้องเลี้ยวให้ตรงมาเรื่อยๆ จะเห็นหมู่บ้านที่เป็นทาวเฮาส์อยู่ขวามือ เริ่มชะลอรถ ร้านพี่โตอยู่ซอยสุดท้ายตรงหัวมุม สามารถจอดรถได้ตรงข้างทางถนนที่ขับมา


ร้านข้าวแกงพี่โตเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน เน้นการทำอาหารให้ลูกค้าทานเหมือนทานอาหารที่บ้าน ที่กระบวนการทำอาหารทุกกระบวนการเต็มไปด้วยความใส่ใจเหมือนทำให้คนในครอบครัวกิน ร้านพี่โตไม่มีป้ายชื่อร้านแต่มีรถเข็นใส่หม้อข้าวแกงจอดอยู่หน้าบ้านเป็นสัญลักษณ์ คนรู้จักต่อกันจากการบอกต่อ ความใส่ใจและการเลือกสรรวัตถุดิบเป็นปัจจัยหลักของร้านพี่โต ถ้าผ่านมาแถวนี้ ร้านนี้ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งถ้าคุณไม่จำเป็นต้องนั่งทานอาหารเที่ยงในร้านติดแอร์ ถ้าต้องการซื้ออาหารกลับบ้านนั่นก็เป็นอีกทางเลือก ลองทานฝีมือคุณยายดูแล้วจะติดใจ




วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

ข้าวซอยเส้นสด"อาลี" ที่บ้านหลวง

ก่อนขึ้นไปถึงอ่างขาง ผ่านบ้านหลวง ถามเพื่อนร่วมทางที่เคยมาว่ามีอะไรไหม เธอบอกไม่มีอะไรเป็นแค่หมู่บ้านแต่ว่ามีข้าวซอยเส้นสดอร่อยขาดใจ ต้องไปชิม แล้วอย่าลืมลองซาลาเปาด้วย แป้งอร่อยมาก ก็โอเคนะ ลองก็ลอง ทั้งที่ถามว่าหิวไหม ไม่เลย

ร้านข้าวซอยอาลีอยู่ตรงปากทางเข้าหมู่บ้าน เป็นร้านเล็กๆริมถนน หน้าตาไม่ได้เตะตาว่าน่าจะมีของอร่อย ดูเหมือนเป็นร้านชาวบ้านทั่วไปมากกว่า เดินลงจากรถฝนเริ่มตกก็เอาน่ะ ดีกว่าขับรถฝ่าฝน จอดแวะพักซักหน่อย




เดินเข้าร้านไปหาที่นั่งคิดในใจว่าอร่อยแน่เหรอวะ ไม่มีมนุษย์ท่านอื่นเลย ไปนั่งที่โต๊ะ เจ้าของร้านรีบเอาชาร้อนมาเสิร์ฟให้ ชาร้อนๆกลิ่นหอมกรุ่น น่าจะเข้ากันดีถ้าได้ซาลาเปา เลยเดินไปชะโงกดูซาลาเปาในลังถึง ถามเค้าว่ามีไส้อะไรบ้าง มีแต่ไส้หวาน เกือบถามไปแล้วว่าไส้หมูสับมีมั้ย ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า อิสลามนี่หว่า ดีไม่ได้ถามไป



ได้ซาลาเปามาหนึ่งลูกกินกับชาร้อน ในบรรยากาศบ้านๆของร้านอาหารจีนแล้วนึกถึงพวกจอมยุทธ์สั่งหมั่นโถว ตอนเด็กๆเคยสงสัยว่าทำไมจอมยุทธ์ต้องสั่งเหล้ากับหมั่นโถว ไม่กินกับข้าวเลยหรือ หรือว่าจน หรือว่างก แล้วแต่จะสงสัยกันไป


ได้ซาลาเปามา กัดเข้าไปคำหนึ่ง โอยร้อน แต่รู้ได้ถึงความเหนียวนุ่มของแป้ง รสชาติซาลาเปาไม่เหมือนซาลาเปากวางตุ้ง แป้งไม่ได้นิ่มอย่างเดียวแต่จะมีความหยุ่นเพราะคาดว่าผ่านการนวดด้วยมือ ไส้นั้นทะลัก แต่ไม่หวานมาก กำลังพออร่อยเมื่อได้ทานกับน้ำชา ขอยกนิ้วให้กับซาลาเปาไส้ถั่วดำวันนี้




ต่อมาที่พระเอกของงานข้าวซอยเส้นสดสั่งข้าวซอยไก่ไปชามหนึ่งเอามาแบ่งกันกินเพราะอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าอิ่มมาก เส้นข้าวซอยเส้นแบนมากับน้ำซุปใสมีผักกาดขาวใส่มาเล็กน้อยตามประสาชาวดอย เนี่ยถ้าเป็นพื้นราบต้องถั่วงอก ด้วยความที่เราไม่ชอบกินถั่วงอก เคยสงสัยว่าใครกันนะที่บัญญัติว่าก๋วยเตี๋ยวต้องใส่ถั่วงอก จะใส่ผักคะน้า ผักบุ้งก็ว่ากันไปทำไมต้องถั่วงอก



ข้าวซอยใส่ไก่หั่นมาติดกระดูกเหมือนกับเอาไก่ไปตุ๋นใส่ขมิ้นเพราะมีสีเหลืองๆแต่ไก่นั้นหอมกรุ่นไม่รู้ว่าเค้าใส่อะไรลงไปตุ๋น ที่ติดใจคือความหวานของน้ำซุป เข้ากันได้ดีกับความเหนียวนุ่มของเส้นข้าวซอย น้ำซุปร้อนๆหวานๆ ชื่นใจมากกับการตักน้ำซุปเข้าปากแล้วคีบเส้นกินตามลงไป ข้าวซอยแบบนี้ไม่มีผักกาดดอง หัวหอม จริงๆแล้วเหมือนเป็นก๋วยเตี๋ยวมากกว่าข้าวซอย ต่างจากข้าวซอยจีนฮ่ออื่นๆตรงไม่ได้ใส่ มะเขือเทศหรือพริกผัด แต่ความหวานและความกลมกล่อมของน้ำซุปกับความเหนียวนุ่มของบะหมี่นั้นสุดบรรยาย


ซาลาเปาหนึ่งลูกกับข้าวซอยทำให้อิ่มได้ง่ายดายที่อิ่มอยู่แล้วอิ่มมากขึ้นไปอีกทานเสร็จก็เลยไปสัมภาษณ์พี่ผู้ชายเจ้าของร้านไปขอถ่ายรูปเส้นบะหมี่ที่รู้ว่าพี่เค้าทำเองพี่เค้าแนะนำว่าถ่ายรูปถาดใหม่เถอะ ถาดเก่าเอาไปใช้แล้วมันไม่สวย ทราบว่าเส้นบะหมี่เป็นแป้งกับไข่ พี่เค้านวดด้วยมือแต่รีดด้วยเครื่องแล้วนำมาตัดเป็นเส้น เอาแป้งนวลมาโรยแล้วใส่ในถาด เวลาจะใช้คือหยิบมาในปริมาณที่ต้องการเอามาต้มในน้ำเดือดๆ เส้นที่ได้เลยเหนียวนุ่ม

ฝนหายตก เราออกเดินทางจากบ้านหลวงแบบท้องอิ่ม ยังประทับใจไม่หายกับร้านเล็กๆบ้านๆที่เราเพิ่งค้นพบ ไม่อยากเชื่อว่ามีของอร่อยแบบนี้ซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านทางผ่าน หมู่บ้านหลวงไม่ใช่หมู่บ้านพื้นบ้านแต่เป็นหมู่บ้านที่ดูว่าเป็นหมู่บ้านมีฐานะพอสมควร ดูจากการที่มีจานดาวเทียมเกือบทุกบ้าน แต่เรื่องอาหารการกินนั้นยังเป็นคำถามเพราะไม่เห็นร้านอาหารอื่นนอกจากร้านข้าวซอย ดูจากรูปการ ร้านข้าวซอยนี้ต้องมีดีอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ที่อุตส่าห์มาซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาแต่ยังมีคนติดตามเข้ามาชิม อย่างน้อยก็เรา



เนื้อสะเต๊ะพันไม้ ใต้ต้นข่อย 100 ปี

ทริปหาอาหารคราวนี้ตั้งใจว่าจะหาอาหารอร่อยข้างทาง เพื่อความบันเทิงและบรรยากาศการกินที่เอร็ดอร่อย เคยเห็นในรายการคู่เลิฟตะลอนทัวร์ถึงร้านเนื้อสะเต๊ะใต้ต้นข่อย 100 ปี ร้านนี้เป็นแบบหาบเร่เป็นเพิงเล็กๆอยู่ใต้ต้นข่อย ขายโดยป้าแขกซึ่งเป็นรุ่นที่สามของตระกูลที่ขายเนื้อสะเต๊ะ ป้าแขกรับช่วงกิจการมาจากพ่อ และพ่อได้มาจากปู่ เค้าว่ากันว่าปู่ป้าแขกหาบเนื้อสะเต๊ะขาย เดินหาบขายเนื้อสะเต๊ะไปจนถึงหน้าโรงเรียนมงฟอร์ต เป็นที่รู้จักของเด็กมงฟอร์ตสมัยนั้น มาถึงรุ่นป้าแขก แกได้ทำเลขายใต้ต้นข่อยบนถนนระแกงขายมาได้ 30กว่าปีแล้ว คนมากินนั่งล้อมแผงที่ดูเหมือนหาบ แต่มีที่นั่งเตี้ยๆรอบแผงของป้าแขก ป้าแขกก็ปิ้งไป เอาเนื้อสะเต๊ะใส่จานทีละ ห้าไม้หกไม้ กินแล้วฟิน ได้อารมณ์

ร้านป้าแขกเปิดแปดโมง ขายไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมด ก็ประมาณเที่ยง ป้าแขกจะทำเนื้อสะเต๊ะแค่พันไม้ หมดแล้วหมดเลย หมดแล้วกลับบ้านนอน เวลาถามป้าว่าขายยังไงคะ ป้าบอกว่าไม้ละสี่บาท สั่งได้ไม่อั้น ป้าจะนับไม้ตอนทานเสร็จ กินอิ่มก็คิดเงิน
เราเป็นรายแรกของป้าวันนั้น พอนั่งเสร็จป้าก็ยกน้ำจิ้ม อาจาด แตงกวากับหอมแดงหั่น อาจาดป้าไม่เหมือนกับที่อื่นเพราะป้าทำอาจาดแตงกวา ใส่น้ำส้มใส่พริกหั่น แต่หอมแดงกับพริกขี้หนูป้าแยกมาอีกจาน คาดว่าเอาไว้ตัดคาวของเนื้อซึ่งบอกได้เลยว่าไม่คาว ป้าเอาจานใส่เนื้อสะเต๊ะมาตั้งแล้วก็ง่วนอยู่กับการติดไฟปิ้งเนื้อ ป้าปิ้งไปเอาน้ำพรมเตาไปไม่ให้เตาไฟแรงเกินเดี๋ยวเนื้อจะไหม้ ป้าจะคอยพรมเนื้อด้วยน้ำกะทิ ทำให้เนื้อสะเต๊ะของป้าหอมกรุ่นทวีคูณ
ป้ามีโต๊ะเตี้ยๆรอบเตา 2 โต๊ะ แต่ละโต๊ะมีเก้าอี้ 4-5 ตัว ใครชอบมุมไหนเชิญนั่งตามสบาย อาจต้องเบียดๆกันบ้างถ้าคนเยอะ แต่รับรองว่าถ้าสะเต๊ะไม่หมด ได้ทานทุกคน
เนื้อของป้าเสียบมาในไม้เล็กๆ ย่างจนหอมเตะจมูก ป้าแอบกระซิบว่าเคล็ดลับไม่มีอะไรมากแค่หมักเนื้อกับขมิ้นแล้วก็น้ำตาล เนื้อมันหอมในตัวมันอยู่แล้ว น้ำจิ้มของป้าเป็นแบบน้ำจิ้มข้นๆเหมือนเนื้อสะเต๊ะทางปักษ์ใต้ แอบคิดว่าสิ่งที่ทำให้น้ำจิ้มอร่อยมากขึ้นก็ตรงถั่วที่ป้าใส่มาเป็นเม็ดๆนั่นแหละ
ป้าจะปิ้งเนื้อสะเต๊ะทีละไม่มากคาดว่าป้องกันไม่ให้ไหม้ และทานทีละน้อยแต่ทานร้อนๆมันอร่อยกว่ากันเยอะ วิธีการขายของป้าช่างแยบยล นั่งกินเพลินๆเผลอแป๊บเดียวอัดเข้าไป 22 ไม้ ท้องจะแตก ป้ายังคุยว่าบางคนกินเป็นร้อยไม้เลยนะ แค่นี้จิ๊บ จิ๊บ เนื้อสะเต๊ะร้านนี้อร่อยที่สุดที่เคยได้ตามกินเนื้อสะเต๊ะมา เนื้อหอมหวาน น้ำจิ้มเข้มข้น ไม่ใส่ผงชูรส ป้าบอกว่าไม่ใช่แนวป้า แถมบรรยากาศการกินยิ่งเข้าท่า นั่งล้อมรอบหาบป้า กินไปเรื่อยๆอิ่มก็หยุด
การนั่งกินรอบแผงป้าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ทำให้คนแปลกหน้ามารู้จักพูดคุยกันรอบแผงเนื้อสะเต๊ะ มีการเปิดประเด็นสนทนาตามแต่ที่จะมีเรื่องน่าสนใจ ได้บรรยากาศและมิตรภาพที่คุณไม่ได้คาดคิดไปอีกแบบ กินไปคุยไป เนื้ออร่อยเผลอๆซัดเข้าไปห้าสิบไม้ไม่รู้ตัว
ใครอยากรู้ว่าร้านนี้อร่อยแค่ไหนลองมาชิมดูได้จะบอกว่าถ้าไม่อร่อยจริงไม่อยู่มาได้ถึงเกือบร้อยปีหรอกขายอยู่อย่างเดียวมันต้องมีอะไรพิเศษ
พิกัดของร้านนี้อยู่บนถนนระแกง วิธีมาคือจากหน้าไนท์บาซาร์ขับรถผ่านพันธุ์ทิพย์ทางซ้ายมือแต่ขับตรงเข้ามาทางถนนช้างคลาน ผ่านโรงแรมแชงการีลาทางซ้ายมือ พอผ่านเริ่มชิดขวา จะเห็นห้างสีสวนพลาซาอยู่ทางซ้าย เห็นโรงแรมลานนาพาเลซให้เลี้ยวขวาเข้าถนนระแกง ผ่านไปทางซ้ายมือจะเป็นร้านไก่ย่างวิเชียรบุรี ให้กลับรถหน้าร้าน ร้านป้าอยู่ฝั่งตรงข้าม โทรถามเบอร์นี้ได้ถ้าไปไม่ถูก 085-0346320 (แต่ไม่รู้ป้าจะยุ่งปิ้งเนื้อจนไม่ได้รับหรือเปล่านะ

ขับรถไต่เขาแลกกับข้าวซอยหนึ่งชาม

เคยได้ยินมานานจากหลายแหล่งแล้วว่าข้าวซอยที่อร่อยที่สุดอยู่บนดอยปุย ก็ได้แต่คิดว่าคนเราช่างพยายามจริงๆขับรถไต่เขาขึ้นไปขนาดนั้น 

เราก็เป็นหนึ่งในนั้นเริ่มไต่เขาจากตีนดอยสุเทพผ่านไปถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ เตรียมใจไว้แล้วว่าต้องไปต่อ ถนนจะเป็นยังไงว้า ขึ้นไปถึงพระตำหนักภูพิงค์ถนนเริ่มแคบลง แคบลง ไปถามทางพี่วินรถตู้แถวนั้น แกหันมามองหน้า ฮะจะไปดอยปุยเหรอ ถนนมันแคบนะ ขับรถระวังหน่อย โอเค เตรียมใจไว้แล้ว ลุย…

ขึ้นมาถึงทางแยก เห็นแต่ป้ายไปหมู่บ้านม้ง ไม่ทันดูว่าม้งอะไร เอาวะเลี้ยวขวา ยิ่งไปทางยิ่งแคบ แคบ แคบ แคบ บางครั้งมีรถสวนมาต้องหลบลงไหล่ทาง ตรงไหนไม่มีไหล่ทางก็ต้องถอยรถหาไหล่ทาง ช่างทุลักทุเล ขึ้นไปเจอร้านกาแฟ เอาน่ะหยุดพักคลายเครียดจากการขับรถ เข้าไปถามป้าร้านกาแฟพร้อมคุยฟุ้งว่าจะขึ้นไปกินข้าวซอย ตกใจแทบสิ้นสติเมื่อป้าบอกว่าตรงนี้บ่อมีข้าวซอย นั่นสิกำลังคิดอยู่เชียวว่าจะมีคนดั้นด้นขับรถข้ามเมฆมาเพื่อข้าวซอยหนึ่งชาม ป้าบอกว่ามาผิดหมู่บ้านม้ง อันนี้บ้านม้งช่างเคี่ยน อันข้าวซอยน่ะบ้านม้งดอยปุย รับทราบค่ะป้า 

บ้านม้งช่างเคี่ยนมีชื่อเสียงมากกับการมาชมพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทย สองข้างทางเป็นต้นพญาเสือโคร่ง คาดว่าคงสวยหยดตอนมันผลัดใบหมดแล้วมีดอกเต็มต้น ปฏิบัติการล่าข้าวซอยยังคงดำเนินการต่อไป

ขับรถย้อนมาถึงทางไปหมู่บ้านม้งดอยปุย ทางดีกว่าทางไปหมู่บ้านแรกมาก อย่างน้อยรถวิ่งได้สองทาง มีที่กั้นถนน ขับไปจนถึงตลาดม้ง ที่จอดรถด้านหน้าถูกพี่ใหญ่รถแดงเจ้าถิ่นแย่งจอดไปหมดแล้ว ต้องเอารถไปจอดด้านล่างแล้วเดินไต่เขาขึ้นมา ดีจะได้หิว

ร้านข้าวซอยเจ้าเก่าเดินเข้าไปในตลาดม้งประมาณ 100 เมตร แต่ตรงนั้นมีสองร้าน อีกร้านใหญ่กว่ามีของขายเยอะกว่า มีอาหารตามสั่งและมีไส้กรอกปิ้งขายหน้าร้าน อย่าลืมว่าร้านข้าวซอยของเราเป็นข้าวซอยอิสลาม ดังนั้นไม่มีหมู ร้านขายไส้กรอกหมูจึงไม่ใช่ แต่ร้านนั้นมีคนมากกว่าก็ทำให้ลังเลได้เหมือนกัน นั่นล่ะประสบการณ์การกินบอกเสมอว่าร้านที่คนเยอะไม่จำเป็นต้องเป็นร้านอร่อยเสมอไป แต่ส่วนใหญ่จะใช่


เดินผ่านร้าน พี่บังผู้ชายเค้ายืนโฆษณาเลยว่าร้านเค้าร้านดั้งเดิม ประกอบกับคนในตลาดที่ถามมาก็บอกว่าร้านนี้ ก็เอาแหละร้านนี้ก็ร้านนี้ เดินเข้าไปป้าที่ทำข้าวซอยถามว่าจะทานอะไร เราก็ระดมสั่งทันที ข้าวซอยเนื้อสอง ข้าวซอยไก่หนึ่ง เดินไปนั่งโต๊ะด้านหลังร้าน จริงๆมีโต๊ะหน้าร้านให้ดื่มด่ำบรรยากาศตลาด แต่ตลาดเดี๋ยวเดินเอาก็ได้

ป้าที่ทำข้าวซอยถ้าป้าไม่ใส่อิยาปจะไม่คิดเลยว่าป้าเป็นมุสลิม ก็ป้าตัวเล็กๆขาวๆ ตาตี่ซะขนาดนั้น นึกขึ้นมาได้ป้าน่าจะเป็นจีนฮ่อที่นับถืออิสลามนะ

พี่บังเดินเอาผักกาดดองที่แกเรียกว่ากิมจิมาเสิร์ฟพร้อมกับหัวหอมซอย กิมจิของร้านนี้เผ็ดใช้ได้ ใครไม่กินเผ็ดจงระวัง แต่กิมจิรสชาติกลมกล่อมและเข้ากันได้ดีกับรสชาติข้าวซอย หัวหอมแดงหั่นตัดเลี่ยนจากข้าวซอยได้สบายๆ

ข้าวซอยที่นี่ใช้เส้นแบบจีนฮ่อเป็นข้าวซอยเส้นเล็กๆแบนๆ น้ำข้าวซอยเป็นน้ำค่อนข้างใสแต่เผ็ดหอมกรุ่นด้วยเครื่องเทศข้าวซอยแบบที่หาทานทั่วไปได้ยาก ข้าวซอยเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวเหนือ ตั้งแต่ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน แต่เอลืมจังหวัดไหนไปหรือเปล่าเนี่ย ข้าวซอยเชียงใหม่จะต่างจากข้าวซอยเชียงรายตรงเส้นกับน้ำ ข้าวซอยเชียงรายจะใช้เส้นแบนแบบนี้หรือเส้นกลมแล้วน้ำจะไม่ข้นกะทิเหมือนข้าวซอยเชียงใหม่ ไปเชียงรายกินข้าวซอยอร่อยกว่ากันเยอะ


ข้าวซอยเนื้อเป็นเนื้อเปื่อยตุ๋นจนนุ่มและหอมถึงเครื่อง เหมือนว่าละลายในปาก ราดมากับน้ำข้าวซอยโรยด้วยเส้นกรอบแล้วเข้ากั๊น เข้ากัน ยิ่งนำมาปรุงกับพริกผัด ซึ่งเข้าใจมาตลอดว่าคือพริกเผาแต่ไม่ใช่แล้วยิ่งเข้ากันใหญ่ เพราะเป็นคนชอบทานเผ็ด การใส่พริกมันทำให้กลิ่นเครื่องแกงข้าวซอยโดดออกมาเตะจมูกอย่างช่วยไม่ได้ กินเส้นข้าวซอยเหนียวนุ่มกับเนื้อที่เคี่ยวได้เปื่อยแต่มีความรู้สึกกรุบกรอบตรงเอ็นแล้วยากที่จะบรรยายเป็นคำพูด เห็นจะจริงที่ว่าข้าวซอยดอยปุยอร่อยสุดในสามโลก ประจักษ์แจ้งแล้วจ้า

ได้ยินโต๊ะข้างๆพยายามจะสั่งข้าวซอยไก่ผสมเนื้อ ซึ่งทางร้านบอกว่าขายไม่ได้เพราะคนละราคากัน เนี่ยล่ะนะรักพี่เสียดายน้อง ชามมันไม่ใหญ่มากกินสองชามก็หมดเรื่อง ข้าวซอยเนื้อร้านนี้ขายอยู่ที่ชามละ 60 บาทแต่ข้าวซอยไก่ที่ชามละ 50 บาทเห็นมั้ยว่าผสมกันไม่ได้

เนื่องจากอยากลองก๋วยเตี๋ยวที่พี่บังบอกก็มีขายทั้งก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ก๋วยเตี๋ยวไก่ ก็เลยสั่งก๋วยเตี๋ยวเนื้อมาลองแบบไม่ใส่ถั่วงอก แต่มีความคิดสร้างสรรค์กว่านั้นคือใส่ข้าวซอยเส้นกรอบ ก๋วยเตี๋ยวเนื้ออร่อยมากทีเดียวจากน้ำซุปใสหอมกรุ่น คาดว่าจะเคี่ยวมานานหลายชั่วโมง เนื้อที่ใช้เป็นคนละแบบกับเนื้อในข้าวซอย แต่เป็นเหมือนเนื้อสดมากกว่าเนื้อตุ๋น อร่อยจนซดน้ำหมดชาม เส้นที่ใส่มีทั้งเส้นเล็กและบะหมี่ มาถึงจุดนี้แล้วก็ต้องเป็นบะหมี่เนื้อใส่เส้นกรอบ บอกได้เลยว่าฟิน อันนี้จะปรุงใส่พริกผัดก็จะได้รสชาติอีกแบบหรือจะทานแบบไม่ปรุงเพื่อดื่มด่ำกับความหวานของน้ำซุปก็ไม่ว่ากัน


ข้าวซอยหนึ่งชามกับบะหมี่เนื้อหนึ่งชามค่อยคุ้มกับการไต่เขาบนยอดเมฆขนาดนั้น ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าทำไมคนบางคนยอมขับรถ 20 กว่ากิโลเมตรขึ้นมาเพื่อข้าวซอยชามเดียว จะบอกให้ว่า “มันแซบจริงจริง” จนป่านนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าอีกร้านหนึ่งจะอร่อยไหม ทำไมร้านนั้นคนเยอะกว่า แต่เอาเถอะได้มาชิมข้าวซอยต้นตำหรับก็ถือเป็นกำไรชีวิต กำไรพุงสูงสุดแล้ว อย่างอื่นค่อยว่ากัน

วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

บะหมี่เบตง ขวัญใจคนจน

สำหรับพวกคนรักบะหมี่แล้วบะหมี่จะให้อร่อยต้องบะหมี่ทำเอง นวดแป้งเอง มันถึงจะได้ความเหนียวนุ่ม นอกจากจะได้ความเหนียวนุ่มของเส้นบะหมี่แล้ว ถ้าเครื่องพวกหมูแดง หมูสับและผักถึงเครื่องพร้อมน้ำซุปหอมกรุ่นแล้ว มันคือที่สุดของบะหมี่หมูแดง

บะหมี่เบตง บะหมี่ทำเองเป็นบะหมี่รถเข็นที่มีครบตามที่บอกมา ถึงแม้ว่าจะเป็นบะหมี่รถเข็นข้างทาง ต้องนั่งทานข้างถนนหรือซื้อกลับไปทานบ้าน รสชาติร้านนี้อร่อยขาดใจแถมราคาก็ถูกแสนถูก บะหมี่ธรรมดาชามละ 30 บาทใส่เกี๊ยวหรือไม่ใส่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นพิเศษก็ 35 หรือ 40 ตามแต่จะเอาบะหมี่มากน้อยแค่ไหน ผู้ชายตัวโตๆเจอชามพิเศษเข้าไปรับรองว่าจุก

ไปแวะซื้อบะหมี่ลุงกลับบ้าน ลุงเล่าให้ฟังว่าอยู่แถวนี้มาเกือบ 40 ปีแล้ว แต่ขายบะหมี่มาได้ประมาณ 30 ปี สมัยก่อนขายอยู่แถวโรงเรียนเพชรรัตน์ขายตอนเย็นตั้งแต่ห้าโมงเย็นเป็นต้นไป ตอนหลังลุงย้ายทำเลมาขายริมคลองประปา เปลี่ยนเวลาขายมาขายเช้าตั้งแต่เก้าโมงเช้า ขายไปจนหมดประมาณบ่ายสองก็กลับบ้าน รุ่งขึ้นค่อยว่ากันใหม่

ถามลุงว่ากำไรดีมั้ย ลุงบอกว่าพออยู่ได้ ลุงอยู่ได้ คนกินอยู่ได้มันก็ไม่เดือดร้อน ลุงไม่ได้กำไรอะไรมากมายเพราะขายราคาถูก จะได้ก็เพราะขายปริมาณมากเอา
ลูกค้าของลุงจะเป็นคนที่อาศัยแถวๆริมคลองประปาประชานิเวศน์หรือถ้าเป็นขาจรก็จะเป็นพวกคนขับรถแท็กซี่ที่มาจอดรถแวะกิน ตอนเที่ยงๆแถวจอดรถแท็กซี่ยาวพร้อมกับคนกินนั่งบนเก้าอี้ที่วางอยู่ข้างทาง ร้านนี้ไม่มีโต๊ะ ลูกค้าจะชอบบะหมี่ของลุงเพราะบะหมี่ลุงเส้นเหนียว ลุงไม่หวงเครื่อง หมูแดงหมูกรอบหมูสับปั้นมาเป็นแผ่น ลุงใส่ถ้วยให้จุใจ

ลุงยังเล่าต่อว่าลุงเรียนการทำบะหมี่มาจากญาติ เค้าสอนให้ฟรีๆ เพื่อให้ใช้เลี้ยงชีพ บะหมี่ของลุงนั้นนวดด้วยมือแล้วเอาเข้าเครื่องรีดบะหมี่ก่อนจะนำมาตัดเป็นเส้นด้วยเครื่อง ลุงขายบะหมี่นี้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวมาตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ตอนนี้โตเรียนหนังสือจนจบปริญญาโทไปคนหนึ่งแล้ว
ตอนนี้การทำบะหมี่ลุงยกเป็นมรดกตกทอดไปให้ลูกสาว ลูกสาวก็ทำบะหมี่มาให้ลุงขายแล้วก็รับทำบะหมี่ส่งให้กับลูกค้าต่างๆที่สั่ง บะหมี่สดลุงจะขายที่กิโลละ 70 บาท นอกจากนั้นหมูแดง หมูกรอบลุงก็แยกขายถ้าสั่ง จะสั่งก็โทรสั่งได้หรือมาสั่งได้ที่รถเข็น

เวลาขายของลุงนั้นจะขายตั้งแต่ 9 โมง ลุงจะถีบรถบะหมี่คันเก่งมาจอดแล้วเอาเก้าอี้มาเรียง ต้มน้ำลวกบะหมี่ ต้มน้ำซุป เตรียมหั่นหมูแดง ลวกผัก ลวกเกี๊ยว เท่านั้นก็เตรียมขายได้ ลุงขายตั้งแต่วันจันทร์ถึงเสาร์ วันอาทิตย์หยุดพักผ่อน บางครั้งลุงก็หายไปจากถนนทีละหลายๆวัน กลับมาอีกทีถามว่าไปไหนมา โน่นลูกชายพาไปเที่ยวเมืองนอก พาไปเกาหลี อยากให้พักผ่อน

ทำเลที่ตั้งร้านของลุงอยู่ริมคลองประปาในหมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 รถเข็นลุงจอดใกล้ๆกับซอย 8 แต่ถ้าคนไม่ชินทางมาแถวนี้ต้องขับรถจากถนนใหญ่กลางหมู่บ้านที่ผ่านตลาด แล้วเลี้ยวขวาเลียบคลอง ขับมาเรื่อยๆจะมีสี่แยกให้ตรงมา ลุงจอดรถเข็นอยู่ไม่ไกลจากสี่แยก ถ้ามาจากสี่แยกวันธรรมดาลุงจอดรถเข็นอยู่ด้านซ้าย จอดรถฝั่งขวาแล้วเดินข้ามไป แต่ถ้าวันหยุดลุงจอดฝั่งขวาติดกับคลองประปา

ลุงไม่ค่อยรับจัดทำบะหมี่นอกสถานที่เพราะทำอยู่คนเดียว ไอ้ที่ขายอยู่ทุกวันก็ไม่ค่อยจะทันแล้ว แต่ถ้าสนใจนำไปออกงานก็น่าจะลองถามดูได้ แต่เวลามาสั่งบะหมี่ลุงต้องมาบอกสั่งลุงที่รถเท่านั้น อย่าได้จดโพยมายื่นให้ลุงเพราะเรื่องอ่านลุงไม่สันทัด

เนื่องจากบะหมี่ของลุงราคาถูกแสนถูก เคยถามว่าลุงไม่คิดจะขึ้นราคาบ้างเหรอ ลุงว่าถ้าขึ้นราคาชาวบ้านจะเดือดร้อน ขายแบบนี้ก็ยังพอมีกำไร พออยู่ได้ก็เลยไม่ขึ้นราคา ในขณะที่ไม่ขึ้นราคาลุงก็ไม่ได้ให้ปริมาณของบะหมี่ในชามลดลง เท่าไหร่ก็เท่านั้น ร้านลุงนี่เป็นบะหมี่ขวัญใจคนจนของจริง

เวลาที่เหมาะสำหรับการสั่งบะหมี่ ยิ่งถ้าสั่งหลายๆห่อแล้วต้องก่อนสิบเอ็ดโมงเช้า ถ้าเป็นช่วงเที่ยงต้องรอคิวนาน เพราะคนมาทานร้านลุงค่อนข้างเยอะโดยเฉพาะพี่แท๊กซี่ที่มาจอดพักทานข้าวเที่ยง แต่ถ้าเลยบ่ายโมงไปของจะเริ่มร่อยหรอแล้ว บ่ายสองโมงนั่นก็หมดเกลี้ยง

ลุงก็เริ่มแก่แล้วและก็ไม่รู้ว่าจะมีเรี่ยวแรงขายบะหมี่ไปได้อีกกี่ปี ลูกๆลุงก็อยากให้เลิกขาย แต่ลุงว่าอยู่เฉยๆมันน่าเบื่อออกมาทำมาหากินดีกว่าอย่างน้อยก็ได้เจอผู้คน แก้เหงา คิดๆอยู่ว่าถ้าไม่มีร้านลุงริมคลองประปาก็คงเงียบเหงาไป อย่างแน่นอน เดี๋ยวก็มีร้านอื่นมาแทนที่ แต่ร้านบะหมี่ทำเองแบบบ้านๆแบบนี้ก็คงหาได้ยาก ยิ่งเป็นบะหมี่ราคาประหยัด คุ้มค่าเงินในแต่ละชาม เต็มไปด้วยเครื่องเคราที่ไม่ได้ช่วยแค่อิ่มท้องแต่ได้รับความบันเทิงจากรสชาติและสังคมใหม่ที่ได้จากการนั่งทานบะหมี่ ยิ่งหายาก

ร้านหลายๆร้าน ถ้าตกไปสู่มือรุ่นลูกแล้วก็มักจะขายเป็นแฟรนไชส์ ขึ้นไปขายตามห้าง ร้านของลุงคงไม่ได้เป็นแบบนั้น ความหวังเดียวที่จะสืบทอดร้านของลุงต่อไปก็อยู่ที่ลูกสาวคนที่ทำบะหมี่ แต่คนที่มาลวกบะหมี่ขายก็ไม่รู้ว่าจะเป็นใครถ้าหมดยุคของลุงไปหรือถ้าลุงทำไม่ไหว นั่นละมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ

การนั่งกินบะหมี่รอบๆรถลุงก็สร้างสังคมใหม่ๆ ทำให้คนหลายคนที่แปลกหน้ามานั่งพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะมีหัวข้ออะไรมาเปิดประเด็นสนทนา กินอิ่มแล้วก็แยกย้ายกันไป  มื้อหน้าค่อยว่ากันใหม่ บะหมี่ร้านลุงเป็นจุดหมายปลายทางของสังคมแบบพื้นบ้านก็ว่าได้ แต่ก็อาจเป็นสวรรค์สำหรับคนชอบทานหลายๆคนโดยเฉพาะแฟนพันธุ์แท้บะหมี่หมูแดง

วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

เบอร์เกอร์เนื้อนุ่ม Jollibee …Pride of Filipino

เค้าว่ากันว่าถ้ามาฟิลิปปินส์แล้วไม่ได้กิน Jollibee ถือว่ามาไม่ถึง ความคิดนี้ถูกฝังหัวตั้งแต่ก่อนมาถึง และตั้งมั่นว่าจะเป็นตายร้ายดีต้องลองให้ได้ ว่าจริงหรือไม่

Jollibee อาจถูกมองว่าเป็นอาหาร Fast Food อาหารขยะหากินที่ไหนก็ได้ แต่บอกตรงๆ รสชาติและคุณภาพของ Jollibee เลอเลิศ คุณค่าที่คุณคู่ควร
กิจการของ Jollibee เป็นของ Tony Tan เขาเริ่มจากขายไอศกรีม Magnolia แล้วมาขายฮอตดอก สาขาแรกของ Jollibee เปิดที่ Quezon city ร้าน Jollibee เริ่มเปิดจาก 5 สาขาแล้วขยายสาขาไปจนทั่วประเทศฟิลิปปินส์ และได้ขยายกิจการไปยังประเทศอื่นๆกระทั่งในยุโรป







Jollibee ขายอาหารประเภทเบอร์เกอร์ สปาเกตตี้ ไก่ทอด และข้าวหน้าต่างๆซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ แล้วยังมีของหวานหลากหลายประเภท  ร้าน Jollibee มีอาหารเช้าเป็นข้าวเสิร์ฟมากับไข่ดาวหนึ่งฟองและเนื้ออีกหนึ่งอย่างไม่ว่าจะเป็นคอร์นบีฟ  steak, Beef Tapa ที่คล้ายๆเนื้อเทอริยากิ หรือไส้กรอก เมนูขึ้นชื่อของ Jollibee คือเบอร์เกอร์ ซึ่งมีสองขนาด ขนาดเล็กและใหญ่ เมนูอร่อยคือ Cheesy Bacon Mushroom Champ ซึ่งเป็นขนาดใหญ่นั้นเนื้อจะมีขนาด 1/3 ปอนด์ ขนมปังแน่น ชีสเยิ้ม เนื้อนั้นเป็นเนื้อแท้ 100% ไม่ใช่เศษเนื้อเหมือนร้านอื่นที่คุณก็รู้อยู่ว่าใคร  กินเบอร์เกอร์อันนี้อันเดียวถึงกับจุก


เบอร์เกอร์อีกอันที่อร่อยไม่แพ้กัน คือ Amazing Aloha Burger Champ เบอร์เกอร์ชิ้นโต เนื้อนุ่ม มากับผัก มะเขือเทศ และที่สำคัญใส่สับปะรด ทำให้นึกย้อนไปถึงเบอร์เกอร์ของสยามสเต๊กที่ได้ปิดตัวจากบ้านเราไปอย่างไม่มีวันกลับ คิดว่าคุณคงจำรสชาติของสยามสเต็กได้ดี

นอกจากเบอร์เกอร์แล้วไก่ทอดของ Jollibee ก็ไม่เป็นรองใคร เนื่องจากไก่ที่ฟิลิปปินส์รสชาติดีอยู่แล้วไม่ใช่ไก่ฮอร์โมน ไก่ง่อยที่เราได้กินอยู่กันในบ้านเรา การทอดไก่ของ Jollibee ทอดยังไงไม่รู้แต่ไก่ข้างนอกกรอบเหมือนข้าวเกรียบในขณะที่ข้างในก็นุ่มแต่ไม่เละ  เนื้อไก่มีความเป็นไก่ ไม่ใช่เนื้อเละๆเหมือนบ้านเรา ที่นี่ถึงแม้จะไม่มีไก่เผ็ดมาตัดเลี่ยน แต่การกินไก่ทอดกับเกรวี่ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ไก่ทอดนั้นยังสามารถสั่งได้กับข้าว French fries หรือสั่งกินกับสปาเกตตี้ก็ได้
พูดถึง Spaghetti แล้ว รสชาติ spaghetti ของ Jollibee ก็เหมือนจะแปลกๆ รสชาติเหมือนซอสพริกหวานๆราดมาบนเส้นสปาเกตตี้ มันไม่เหมือนซอสมะเขือเทศเลยแม้แต่นิดเดียว หรือว่ามันเป็นรสนิยมของคนฟิลิปปินส์เพราะก็เห็นเค้าทานกันเอร็ดอร่อย นอกจากสปาเกตตี้ราดซอสพริกหวานแล้ว Jollibee ยังมีเส้น Bi Hun ราดซอสหมูกับกุ้งที่เรียกว่า Palabog แต่ว่าเป็นอย่างไรนั้นไม่รู้เพราะไม่ได้ลอง

เมนูข้าวของ Jollibee ก็มีแบบ Ala Carte และแบบ Combo แต่เมนูข้าวนี้ไม่ได้มีทุกวัน แต่จะเป็นช่วงเวลาพิเศษซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าวันไหน เมนูข้าวจะเป็นเนื้อหรือสเต็ก ราดน้ำเกรวี่โปะมาด้วยกระเทียมทอด หรือเป็น ปลาราดซอสมากับข้าว แต่อันนี้ก็ไม่ได้ลองเพราะมัวแต่ดูเมนูน่าสนใจอื่นๆอยู่ อย่างที่บอกเมนูข้าวไม่ได้มีทุกวัน



ร้าน Jollibee เป็นร้านสำหรับครอบครัว ร้านนี้ส่วนใหญ่ค่อนข้างคนแน่น และพบเห็นได้ทั่วไปในฟิลิปปินส์ มันเป็นความภาคภูมิใจของคนฟิลิปปินส์ที่ ร้านอาหารเชนของเจ้าของประเทศเป็นที่นิยมมากกว่ามหาอำนาจเช่น Mcdonald’s หรือ KFC เมื่อเทียบกันแล้ว คุณภาพก็แย่กว่า ราคาก็ไม่คุ้มค่าเท่า คนฟิลิปปินส์คงรู้ในข้อนี้เพราะร้านในละแวกเดียวกันเมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่แล้ว Jollibee กินขาดทุกร้าน อาจจะจริงที่ว่าถ้ามาฟิลิปปินส์ไม่ได้ทาน Jollibee แล้วคือคุณมาไม่ถึงฟิลิปปินส์